ตาลปัตรฤๅษี ๑

Limnocharis flava (L.) Buchenau

ชื่ออื่น ๆ
คันช้อน (นครราชสีมา); ตาลปัตรยายชี, บอนจีน (ปัตตานี); นางกวัก, บัวค้วก (เหนือ); บัวลอย (แม่ฮ่องสอน);
ไม้น้ำล้มลุกหลายปี ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าสั้นและหนา มีรากจำนวนมาก ส่วนเหนือดินตั้งตรง ใบเดี่ยว เรียงเวียนหรือเรียงเวียนถี่คล้ายกุหลาบซ้อน รูปใบหอก รูปขอบขนาน รูปรี หรือรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกตามซอกใบ ก้านช่อตั้งตรง ดอกสีขาวถึงสีเหลืองอ่อน ส่วนโคนสีเหลืองเข้มกว่า ผลแบบผลกลุ่ม ผลย่อยแบบผลแตกแนวเดียว แต่ละผลรูปจันทร์เสี้ยว ติดรวมกันเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม เมล็ดสีน้ำตาลเข้ม รูปเกือกม้า มีสันเด่นชัด

ตาลปัตรฤๅษีชนิดนี้เป็นไม้น้ำล้มลุกหลายปี ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าสั้นและหนา กว้างและยาวประมาณ ๓ ซม. มีรากจำนวนมาก สีขาวและสีน้ำตาล พบทั้งรากที่มีและไม่มีผนังกั้น ส่วนเหนือดินสูง ๒๐-๔๐ ซม. ตั้งตรง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนหรือเรียงเวียนถี่คล้ายกุหลาบซ้อน ตั้งตรง ใบอ่อนม้วน แผ่นใบรูปใบหอก รูปขอบขนาน รูปรี หรือรูปไข่ กว้าง ๕-๒๐ ซม. ยาว ๖-๒๘ ซม. ปลายแหลม เว้าบุ๋ม หรือมนกลม โคนมน กึ่งรูปหัวใจ หรือกึ่งรูปติ่งหู ขอบเรียบ เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน แผ่นใบกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นโคนใบมี ๙-๑๓ เส้น เรียงขนานกันตามความยาวแผ่นใบและโค้งไปจดกันที่ปลายใบ เส้นใบย่อยมีจำนวนมาก เรียงแบบขั้นบันไดถี่ขนานกัน ก้านใบสีเขียวอ่อน ยาว ๒๐-๖๕ ซม. พบบ้างที่ยาวได้ถึง ๙๐ ซม. มีสันเป็นสามเหลี่ยม ด้านในเป็นโพรงอากาศ บริเวณโคนก้านมี ๒ สันที่อยู่ด้านในแผ่เป็นครีบและเป็นร่องถึงลำต้น

 ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกตามซอกใบ มี ๑-๔ ช่อ ก้านช่อดอกตั้งตรง ยาว ๒๐-๙๐ ซม. อาจยาวได้ถึง ๑.๒ ม. ส่วนโคนก้านแบน บริเวณส่วนกลางถึงปลายก้านมีสันเป็นสามเหลี่ยม แต่ละช่อมี ๒-๑๒ ดอก ใบประดับรูปรีถึงรูปรีกว้าง สีเขียวอ่อนหรือสีขาวอมเขียวแกมสีชมพู กว้างและยาว ๑-๒ ซม. ปลายเว้าตื้น เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๒-๔ ซม. ก้านดอกยาว ๒-๗ ซม. มีสันเป็นสามเหลี่ยม แต่ละสันมีขอบขยายเป็นครีบ ขยายขนาดเมื่อเป็นผล กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ เรียงสลับกับกลีบดอก สีเขียว คุ่มและโค้ง รูปเกือบกลม กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๒ ซม. ปลายมน กลีบดอก ๓ กลีบ


สีขาวถึงสีเหลืองอ่อน ส่วนโคนสีเหลืองเข้มกว่า รูปไข่กลับกว้างถึงรูปเกือบกลม กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. ปลายมน ขอบพับเป็นคลื่น กลีบค่อนข้างยับย่นและมีเส้นกลีบ บางและร่วงง่าย เกสรเพศผู้จำนวนมาก เรียงซ้อนกันหลายชั้น ชั้นนอกมีขนาดใหญ่กว่าและมักเป็นหมัน รูปแถบแคบหรือรูปคล้ายดาบ ชั้นในเป็นเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ ก้านชูอับเรณูแบน ยาว ๐.๒-๑.๕ ซม. สีเขียวอมเหลือง อับเรณูยาวประมาณ ๑.๕ มม. เกสรเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑๒-๒๐ รังไข่ เรียงติดกันเป็นรูปคล้ายคนโท กว้างประมาณ ๔ มม. ยาว ๖-๗ มม. แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก

 ผลแบบผลกลุ่ม ผลย่อยแบบผลแตกแนวเดียว ติดรวมกันเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๑-๑.๖ ซม. ยาว ๑.๒-๒ ซม. มี ๑๒-๒๐ ผล แต่ละผลย่อยรูปจันทร์เสี้ยว กว้าง ๔-๗ มม. ยาวประมาณ ๑.๓ ซม. ผลย่อยแต่ละผลอาจมีเมล็ดมากกว่า ๑๐๐ เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาลเข้ม รูปเกือกม้า กว้างและยาว ๑-๑.๕ มม. มีสันเด่นชัด

 ตาลปัตรฤๅษีชนิดนี้เป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนของละตินอเมริกา (แถบเม็กซิโก นิการากัว คอสตาริกา ปานามา คิวบา เฮติ สาธารณรัฐโดมินิกัน โคลัมเบีย เวเนซุเอลา เอกวาดอร์ บราซิล และหมู่เกาะเวสต์อินดีส) พบมีการกระจายพันธุ์ทั่วโลกโดยเฉพาะในเขตร้อนและพบเป็นวัชพืชน้ำในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย บังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา เมียนมา มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ปาปัวนิวกินี ในประเทศไทยพบทั่วทุกภาค ตามพื้นที่ที่มีน้ำขังหรือแปลงนา ออกดอกและเป็นผลตลอดปี

 ประโยชน์ ดอกตูม ใบ และก้านช่อดอกใช้รับประทานเป็นผักสดเคียงกับอาหารหรือปรุงสุก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาลปัตรฤๅษี ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Limnocharis flava (L.) Buchenau
ชื่อสกุล
Limnocharis
คำระบุชนิด
flava
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Buchenau, Franz Georg Philipp
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Buchenau, Franz Georg Philipp (1831-1906)
ชื่ออื่น ๆ
คันช้อน (นครราชสีมา); ตาลปัตรยายชี, บอนจีน (ปัตตานี); นางกวัก, บัวค้วก (เหนือ); บัวลอย (แม่ฮ่องสอน);
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายจักรกฤษณ์ ศรีแสง